ทองปิดร่วง $35.2 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

ทองปิดร่วง $35.2 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงหลุดจากระดับ 1,800 เมื่อคืนนี้ (7 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 35.2 ดอลลาร์ หรือ 1.92% ปิดที่ 1,798.5 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 42.9 เซนต์ หรือ 1.73% ปิดที่ 24.373 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 25.7 ดอลลาร์ หรือ 2.52% ปิดที่ 995.9 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ดิ่งลง 62.80 ดอลลาร์ หรือ 2.6% ปิดที่ 2,353.50 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.32% แตะที่ 92.5126 เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ

นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยลบหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.373% เมื่อคืนนี้ โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

นักลงทุนจับตาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขตของสหรัฐหรือ Beige Book ในวันพุธนี้ พร้อมกับจับตาการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ด้วย

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค.ของสหรัฐจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่คณะกรรมการเฟดใช้ในการพิจารณาว่าจะเริ่มประกาศลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) หรือไม่ในการประชุมวันที่ 21-22 ก.ย.

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่งในเดือนส.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 720,000 ตำแหน่ง และน้อยกว่าเดือนก.ค.ที่พุ่งขึ้นแข็งแกร่งถึง 1,053,000 ตำแหน่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานของสหรัฐได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: ratana@infoquest.co.th

Share this post