ทองปิดบวก $1.4 ขานรับเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด-ดอลล์อ่อนหนุนตลาด

ทองปิดบวก $1.4 ขานรับเงินเฟ้อต่ำกว่าคาด-ดอลล์อ่อนหนุนตลาด

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกในวันพุธ (10 ส.ค.) หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 1.4 ดอลลาร์ หรือ 0.08% ปิดที่ 1,813.7 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ หรือ 1.27% ปิดที่ 20.742 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 13.1 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 946.1 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 27.10 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 2,245.90 ดอลลาร์/ออนซ์

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.5% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.7% หลังจากพุ่งแตะระดับ 9.1% ในเดือนมิ.ย.ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี

ดัชนี CPI ที่ต่ำกว่าคาดทำให้นักลงทุนปรับลดคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 61.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 38.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%

ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 68.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 31.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%

นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ร่วงลง 1.11% แตะที่ 105.1960 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 2.723% เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าจะเพิ่มความน่าดึงดูดของทองคำ โดยทำให้สัญญาทองคำมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

โดย รัตนา พงศ์ทวิช

Share this post