ทองปิดบวก 24.10 ดอลล์ บอนด์ยีลด์-ดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) โดยปรับตัวขึ้นเป็นวันแรกในรอบ 5 วันทำการ หลังได้แรงหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ลดลง ซึ่งได้กระตุ้นแรงซื้อสัญญาทองคำหลังจากร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอินเดีย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 24.10 ดอลลาร์ หรือ 1.36% ปิดที่ 1,791.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.087 ดอลลาร์ หรือ 4.2% ปิดที่ 26.96 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 24.9 ดอลลาร์ หรือ 2.07% ปิดที่ 1,230.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 27.70 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 2,981.40 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นสวนทางกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและดอลลาร์ที่ลดลง โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลสหรัฐ ลดลงสู่ระดับราว 1.61% เมื่อคืนนี้ ขณะที่ดอลลาร์อ่อนค่าลงราว 0.3%
การร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดทองคำ เนื่องจากทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลง และมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ต่ำกว่าคาดช่วยหนุนสัญญาทองคำด้วย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือนมี.ค. เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 1.9% หลังจากร่วงลง 0.6% ในเดือนก.พ.และเมื่อเทียบรายปี การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือนมี.ค.
ส่วนสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.7 ในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 65.0 หลังจากพุ่งแตะระดับ 64.7 ในเดือนมี.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2526
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย กัลยาณี ชีวะพานิช โทร.Tel. 02-253-5000 ต่อ 363 อีเมล์: [email protected]