ทองปิดบวก $7.5 นักลงทุนรุกซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเหตุกังวลโควิด-19 ฉุดเศรษฐกิจ
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (14 เม.ย.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเดินหน้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุตลาดทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.5 ดอลลาร์ หรือ 0.43% ปิดที่ 1768.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2555
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 59.3 เซนต์ หรือ 3.82% ปิดที่ 16.13 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. พุ่งขึ้น 69.9 ดอลลาร์ หรือ 9.32% ปิดที่ 819.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 14.70 ดอลลาร์ หรือ 0.7% ปิดที่ 2,185.40 ดอลลาร์/ออนซ์
นักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะประสบกับวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษ 1930 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ทั้งนี้ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวลง 3% ในปีนี้ ซึ่งสวนทางการคาดการณ์ในเดือนม.ค.ที่ระบุว่า เศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัว 3.3% ในปีนี้
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน เชสที่เปิดเผยตัวเลขกำไรในไตรมาส 1 ที่ระดับ 0.78 ดอลลาร์/หุ้น ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.84 ดอลลาร์/หุ้น ส่วนรายได้อยู่ที่ระดับ 2.907 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.967 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ ตลาดทองคำยังได้รับปัจจัยหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.48% สู่ระดับ 98.87 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะช่วยหนุนราคาทองปรับตัวขึ้น เนื่องจากนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่นสามารถซื้อทองได้ในราคาที่ถูกลง
นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง ยอดค้าปลีกเดือนมี.ค., การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]