ทองปิดพุ่ง $21.4 ดอลล์อ่อนหนุนแรงซื้อ,จับตามาตรการกระตุ้นศก.
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 ส.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ ภาวะชะงักงันในการเจรจาเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ รวมทั้งตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐที่นักลงทุนมองว่ายังอยู่ในระดับสูงมากนั้น ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ทองคำได้รับแรงซื้อในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 21.4 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,970.4 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 1.739 ดอลลาร์ หรือ 6.69% ปิดที่ 27.718 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 23.8 ดอลลาร์ หรือ 2.48% ปิดที่ 983 ดอลลาร์/ออนซ์
ส่วนสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. พุ่งขึ้น 48.60 ดอลลาร์ หรือ 2.2% ปิดที่ 2,216.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.12% สู่ระดับ 93.3360 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ เมื่อดอลลาร์อ่อนค่าจะทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น มีราคาถูกลงและมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจำนวน 963,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าตัวเลขดังกล่าวมีจำนวนต่ำกว่า 1 ล้านรายเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. แต่นักลงทุนมองว่าตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะซบเซา
นอกจากนี้ การเจรจาที่ยังไม่คืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยล่าสุดประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวว่า ประเด็นที่ยังคงสร้างความขัดแย้งในการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสคือการที่พรรคเดโมแครตเรียกร้องให้ร่างกฎหมายเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะต้องรวมถึงการให้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลกลางแก่สำนักงานไปรษณีย์จำนวน 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และการให้เงินทุนสนับสนุนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย.
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]