ทองปิดพุ่ง $48.2 หลังนลท.เดินหน้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

ทองปิดพุ่ง $48.2 หลังนลท.เดินหน้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปีเมื่อคืนนี้ (6 เม.ย.) โดยนักลงทุนยังคงเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ขณะเดียวกันนักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 48.2 ดอลลาร์ หรือ 2.93% ปิดที่ 1,693.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ธ.ค. 2555

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 67.5 เซนต์ หรือ 4.66% ปิดที่ 15.169 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 13.9 ดอลลาร์ หรือ 1.94% ปิดที่ 732 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 29.20 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 2,076.80 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำปิดพุ่งขึ้นเนื่องจากนักลงทุนมองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดยังไม่น่าไว้วางใจ จึงยังคงเข้าซื้อทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยข้อมูลล่าสุดจากศูนย์วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเชิงระบบ (CSSE) แห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1,341,907 ราย ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะ 74,476 ราย โดยสหรัฐยังคงเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยโควิด-19 มากที่สุดในโลกที่ 364,723 ราย รองลงมาคือสเปน 136,675 ราย, อิตาลี 132,547 ราย, เยอรมนี 102,453 ราย และฝรั่งเศส 98,959 ราย

นอกจากนี้ นักลงทุนมองว่าการที่รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับต่ำเมื่อรับมือกับปัญหาโควิด-19 นั้น อาจทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยมุมมองดังกล่าวนับเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย

นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึง รายงานการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมี.ค.

ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]

Share this post