ทองปิดลบ $12.2 จากแรงขายทำกำไร-ความเห็นจนท.เฟดฉุดตลาด
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันพฤหัสบดี (9 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นทะลุระดับ 1,900 ดอลลาร์ในระหว่างวัน นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่หลายคนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 12.2 ดอลลาร์ หรือ 0.65% ปิดที่ 1,878.5 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 27.7 เซนต์ หรือ 1.24% ปิดที่ 22.143 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 23 ดอลลาร์ หรือ 2.33% ปิดที่ 964.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 19.2 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,616.70 ดอลลาร์/ออนซ์
คริสแทน คาร์นานี นักวิเคราะห์จากบริษัท Insignia Consultants กล่าวว่า นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำทะยานขึ้นเหนือระดับ 1,900 ดอลลาร์ นอกจากนี้ การแสดงความเห็นของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังเป็นปัจจัยฉุดตลาดทองคำ
เจ้าหน้าที่เฟด 4 คนได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยนายคริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ หนึ่งในผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า ภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่จบ ซึ่งทำให้เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง
ขณะที่นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์กกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้ม (Restrictive Level) ต่อไปอีกประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐจะปรับตัวลงสู่ระดับต่ำเท่ากับในช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด
ทางด้านนางลิซา คุก ผู้ว่าการเฟดกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะควบคุมเงินเฟ้อ และจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ดี เธอมองว่าเฟดควรจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่คณะกรรมการเฟดจะมีเวลาในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจหลังจากที่ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ นายนีล แคชคารี ประธานเฟดสาขามินเนอาโพลิสกล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อควบคุมการขยายตัวของค่าจ้าง และขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานมากนักที่บ่งชี้ว่าการที่เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดแรงงาน ด้วยเหตุนี้เฟดจึงจำเป็นต้องทำให้ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะสมดุล
ที่มา – โดย รัตนา พงศ์ทวิช