ทองปิดลบ $8.5 เหตุเงินดอลล์แข็งกดดันตลาด

ทองปิดลบ $8.5 เหตุเงินดอลล์แข็งกดดันตลาด

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อคืนนี้ (16 เม.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยกดดันตลาด โดยดัชนีดอลลาร์พุ่งขึ้นทะลุระดับ 100 เนื่องจากนักลงทุนพากันเข้าซื้อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย และมีสภาพคล่องมากที่สุด หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานพุ่งขึ้นกว่า 5 ล้านราย

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 8.5 ดอลลาร์ หรือ 0.49% ปิดที่ 1731.7 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 11.7 เซนต์ หรือ 0.75% ปิดที่ 15.622 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 11.3 ดอลลาร์ หรือ 1.4% ปิดที่ 793.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 32.90 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,120.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน พุ่งขึ้น 0.6% สู่ระดับ 100.06 เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ ดอลลาร์ที่แข็งค่าจะทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

นักวิเคราะห์จากบริษัทโพลตัส แคปิตอล แอดไวเซอร์ส กล่าวว่า ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานในสหรัฐที่พุ่งกว่า 5 ล้านรายได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์ซึ่งเป็นสกุลเงินที่ปลอดภัย และการแข็งค่าของดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 5.245 ล้านราย ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5 ล้านราย

อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกที่มีการรายงานเมื่อวานนี้ ต่ำกว่าในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.615 ล้านราย

ทั้งนี้ เมื่อรวมตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่มีการรายงานเมื่อวานนี้รวมกับ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่า 22 ล้านราย

การพุ่งขึ้นของตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานมีสาเหตุจากการที่ภาคธุรกิจได้พากันปิดกิจการ จากมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้มีการปลดพนักงานจำนวนมาก

ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ เพิ่มขึ้น 2.568 ล้านราย สู่ระดับ 6.066 ล้านราย

ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]

Share this post