ทองปิดร่วง $43.9 นลท.ขายสินทรัพย์ปลอดภัยหลังข้อมูลศก.แข็งแกร่ง
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 40 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (4 ก.พ.) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ ยังเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ลดลง 43.9 ดอลลาร์ หรือ 2.39% ปิดที่ 1,791.2 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 65.5 เซนต์ หรือ 2.44% ปิดที่ 26.234 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 11.5 ดอลลาร์ หรือ 1.03% ปิดที่ 1,103 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้น 4.10 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 2,280.70 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ดีดตัวขึ้น โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.39% สู่ระดับ 91.5209 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
ขณะเดียวกันการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ จะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย โดยนักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่เทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 779,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 28 พ.ย.2563 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 830,000 ราย จากระดับ 812,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนธ.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.7% หลังจากพุ่งขึ้น 1.3% ในเดือนพ.ย. โดยการดีดตัวของคำสั่งซื้อภาคโรงงานได้รับแรงหนุนจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังจากมีการปิดเศรษฐกิจก่อนหน้านี้เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]