ทองปิดร่วง $26.2 เหตุบอนด์ยีลด์พุ่ง-นลท.ขายสินทรัพย์ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงติดต่อกัน 4 วันทำการเมื่อคืนนี้ (17 ก.พ.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังคงสร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงยอดค้าปลีกเดือนม.ค.
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 26.2 ดอลลาร์ หรือ 1.46% ปิดที่ 1,772.8 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 1 เซนต์ หรือ 0.04% ปิดที่ 27.315 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ดิ่งลง 21.9 ดอลลาร์ หรือ 1.71% ปิดที่ 1,257.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ร่วงลง 18.50 ดอลลาร์ หรือ 0.8% ปิดที่ 2369.70 ดอลลาร์/ออนซ์
ข้อมูลจาก Dow Jones Market Data ระบุว่า ขณะนี้ตลาดทองคำเผชิญกับภาวะ Death Cross เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561 หลังจากสัญญาทองคำเคลื่อนไหวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะเวลา 50 วันที่ระดับ 1,856.46 ดอลลาร์/ออนซ์ และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะเวลา 200 วันที่ระดับ 1,857.67 ดอลลาร์/ออนซ์
ทั้งนี้ Death Cross เป็นศัพท์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่บ่งชี้ถึงสภาวะของตลาดทองคำว่า ราคาทองคำกำลังมีแนวโน้มขาลง
สัญญาทองคำยังคงได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยเมื่อคืนนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 1.33% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2563
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย ด้านนักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย
ขณะเดียวกันการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังส่งผลให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.47% แตะที่ 90.9514 เมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกพุ่งขึ้น 5.3% ในเดือนม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการที่ชาวอเมริกันได้รับเงินช่วยเหลือตามมาตรการเยียวยาวงเงินเกือบ 9 แสนล้านดอลลาร์ของรัฐบาลสหรัฐเมื่อช่วงปลายเดือนธ.ค.2563
ด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐ เพิ่มขึ้นเกินคาด 1.0% ในเดือนม.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนธ.ค. ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์คาดไว้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรม อาจเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนม.ค.
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]