ทองปิดบวก $2.2 หลังบอนด์ยีลด์-เงินดอลล์อ่อนตัว
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดบวกเป็นวันแรกในนรอบ 5 วันทำการเมื่อคืนนี้ (18 ก.พ.) หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐและค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง นอกจากนี้ สัญญาทองคำยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.2 ดอลลาร์ หรือ 0.12% ปิดที่ 1,775 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 23.7 เซนต์ หรือ 0.87% ปิดที่ 27.078 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 17 ดอลลาร์ หรือ 1.35% ปิดที่ 1,274.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมี.ค. ลดลง 20.90 ดอลลาร์ หรือ 0.9% ปิดที่ 2,348.80 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำดีดตัวขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงสู่ระดับ 1.284% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวลงสู่ระดับ 2.065% เมื่อคืนนี้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตลาดทองคำนิวยอร์กเกิดภาวะ Death Cross เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2561 เนื่องจากเส้นค่าเฉลี่ยทางเทคนิคระยะสั้นตัดลงต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยเมื่อวันพุธ ราคาเฉลี่ยในรอบ 50 วันของสัญญาทองคำอยู่ที่ระดับ 1,856.46 ดอลลาร์/ออนซ์ ต่ำกว่าราคาเฉลี่ยในรอบ 200 วันที่ระดับ 1,857.67 ดอลลาร์/ออนซ์
ภาวะการซื้อขายในตลาดทองคำเมื่อคืนนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.39% สู่ระดับ 90.5966 ซึ่งการอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ มีราคาถูกลงและมีความน่าดึงดูดมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกพุ่งขึ้นสู่ระดับ 861,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 773,000 ราย
ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟียเปิดเผยว่า ดัชนีภาวะธุรกิจในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ร่วงลงสู่ระดับ 23.1 ในเดือนก.พ. จากระดับ 26.5 ในเดือนม.ค. โดยการปรับตัวลงของดัชนีได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่นักลงทุนลดความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]