ทองปิดลบ 5.6 ดอลล์ หลังบอนด์ยีลด์สหรัฐพุ่ง
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (29 เม.ย.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 5.6 ดอลลาร์ หรือ 0.32% ปิดที่ 1,768.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 3.3 เซนต์ หรือ 0.13% ปิดที่ 26.085 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 14.6 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 1,197.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 18.40 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,948.60 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปิดในแดนลบติดต่อกันเป็นวันที่ 3 หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ดีดตัวสู่ระดับ 1.665% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.329% เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการถือครองทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะดึงดูดให้นักลงทุนหันเข้าซื้อพันธบัตร แต่จะเทขายทอง ในการปรับพอร์ตการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย
นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนหนึ่งเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ขยายตัว 6.4% ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ในช่วง 6.1-6.5% และเป็นตัวเลขการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546
ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 13,000 ราย สู่ระดับ 553,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563
อย่างไรก็ดี สัญญาทองคำปรับตัวลงไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนขานรับถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งระบุว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป และจะยังไม่ปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) แม้เศรษฐกิจสหรัฐมีการฟื้นตัวแข็งแกร่งมากขึ้นก็ตาม
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]