ทองปิดร่วง $38.1 เหตุดอลล์แข็ง-บอนด์ยีลด์พุ่งกดดันตลาด
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% หลุดจากระดับ 1,760 ดอลลาร์เมื่อคืนนี้ (16 ก.ย.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์และการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 38.1 ดอลลาร์ หรือ 2.12% ปิดที่ 1,756.7 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 1.007 ดอลลาร์ หรือ 4.23% ปิดที่ 22.794 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. ลดลง 7.2 ดอลลาร์ หรือ 0.77% ปิดที่ 923.3 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 29.90 ดอลลาร์ หรือ 1.5% ปิดที่ 2,021.50 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ โดยดัชนีดอลลาร์ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.42% แตะที่ 92.9311 เมื่อคืนนี้
ทั้งนี้ การแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาแพงขึ้นและมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
ตลาดทองคำยังได้รับปัจจัยลบหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.331% เมื่อคืนนี้ โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
นอกจากนี้ ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐยังส่งผลให้นักลงทุนเทขายทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.ปรับตัวขึ้น 0.7% เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 0.8% และเมื่อเทียบรายปี ยอดค้าปลีกเดือนส.ค.พุ่งขึ้น 15.1% โดยได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายในช่วงก่อนเปิดเทอมการศึกษาในสหรัฐ
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก พุ่งขึ้นสู่ระดับ 30.7 ในเดือนก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 18.7 จากระดับ 19.4 ในเดือนส.ค. โดยการพุ่งขึ้นของดัชนีได้รับแรงหนุนจากการที่นักลงทุนยังคงเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
นักลงทุนจับตาการประชุมกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในวันที่ 21-22 ก.ย.นี้ เพื่อหาสัญญาณการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด
ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]