ทองปิดพุ่ง $20.8 นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังข้อมูลศก.ซบเซา

ทองปิดพุ่ง $20.8 นักลงทุนซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยหลังข้อมูลศก.ซบเซา

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (1 ต.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อทองคำในฐานะซื้อสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งรวมถึงดัชนีภาคการผลิตที่ลดลงมากกว่าคาดในเดือนก.ย. ขณะที่นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 20.8 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1,916.3 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.ปีนี้

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 76 เซนต์ หรือ 3.23% ปิดที่ 24.254 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 3.2 ดอลลาร์ หรือ 0.35% ปิดที่ 906 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 2.30 ดอลลาร์ หรือ 0.1% ปิดที่ 2,328.20 ดอลลาร์/ออนซ์

ทางการสหรัฐเปิดเผยข้อมูลหลายรายการเมื่อคืนนี้ ซึ่งนักลงทุนมองว่าข้อมูลเหล่านี้สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซาของสหรัฐ โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 ในเดือนก.ย. จากระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.3

ทั้งนี้ การปรับตัวลงของดัชนีภาคการผลิตในเดือนก.ย.ได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนส.ค. ซึ่งแม้ว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% แต่การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคในเดือนส.ค.ขยายตัวน้อยกว่าในเดือนก.ค.ซึ่งมีการขยายตัว 1.5% นอกจากนี้ รายได้ส่วนบุคคลลดลง 2.7% ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนอัตราการออมลดลงสู่ระดับ 14.1%

นักลงทุนจับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนก.ย.ของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐมีกำหนดเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในวันนี้ เวลา 19.30 น.ตามเวลาไทย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 850,000 ตำแหน่ง และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงสู่ระดับ 8.2% ในเดือนก.ย.

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่นๆของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนส.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน

ที่มา – อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช โทร.02-2535000 ต่อ 327 อีเมล์: [email protected]

Share this post